ปัจจุบันระบบขนส่งมวลชนหลักของจังหวัดขอนแก่นมีเพียงรถตู้ รถสองแถว และรถเมล์ แต่ยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ปริมาณผู้ใช้บริการขนส่งสาธารณะในเมืองขอนแก่น ปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 194,000 คน (ต่อเที่ยวต่อวัน) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เผยความคืบหน้าโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการวางรูปแบบระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในแต่ละจังหวัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการศึกษาโครงการก้าวหน้าไปมากกว่า 50% และคาดว่าผลการศึกษาจะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปีหน้า ซึ่งจังหวัดที่มีความพร้อมมากที่สุดคือ จ.ขอนแก่น เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่ มีศักยภาพความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ และการลงทุน 

ซึ่งระบบขนส่งมวลชนในจังหวัดขอนแก่นมี 2 แบบ ได้แก่ รถเมล์ (BRT) และ รถไฟฟ้ารางเบา (LRT) ทั้งนี้ต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่นๆประกอบด้วย เช่น ความต้องการของท้องถิ่น การลงทุน การพัฒนาพื้นที่โดยรอบ(TOD) รวมไปถึงการรักษาความเป็นเอกลักษณ์ของเมือง

 

นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวว่า ผลการสำรวจความเห็นของชาวขอนแก่น พบว่ากว่า 82% ต้องการระบบรถไฟฟ้ารางเบา (LRT) มาแก้ปัญหาจราจร และด้วยความสามัคคีและเห็นแก่ความเจริญของจังหวัด ทำให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันผลักดันโครงการนี้อย่างจริงจัง และได้รับความร่วมมือจากคนในจังหวัดเป็นอย่างดี

 

 

ขณะที่ภาคเอกชนในจังหวัด ที่ต่างก็เห็นโอกาสการเติบโตของเมือง ทั้งทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต รวมทั้งโอกาสทางธุรกิจที่จะขยายตัวจากการพัฒนาเมือง จึงได้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ขึ้นมา เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดเป็นโครงการเริ่มต้น 

 

ปัจจุบันโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา ได้รับการอนุมัติในหลักการจาก คสช. ให้เดินหน้าโครงการได้แล้ว เหลือเพียงรอการศึกษาของทาง สนข. เท่านั้น และถ้าไม่มีอะไรติดขัด ชาวขอนแก่นจะได้ใช้บริการรถไฟฟ้ารางเบาภายในปี 2562 และจังหวัดขอนแก่นจะเป็นต้นแบบของจังหวัดที่มีการพัฒนาเมืองจากความต้องการของคนในจังหวัดอย่างแท้จริง

ขอขอบคุณภาพและข่าว

รายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ (จอโลกเศรษฐกิจ) , รายการครอบครัวข่าวเช้า


Poster : kktt | 29 มิถุนายน 59 00:00:00


© 2024 Khon Kaen City Development (KKTT) Co., LTD. All rights reserved.

Web Design & Development by Smilehost.asia