ที่มาของ "โครงการแทรมน้อย"

สืบเนื่องจาก บริษัท ฮิโรชิมา เดนเทะซึ โบกี้ ได้บริจาคแทรมน้อย ผ่านเทศบาลนครฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งต่อให้กับเทศบาลนครขอนแก่น ในโครงการพัฒนาทดลองระบบรางและต้นแบบรถแทรมขนาดเท่าของจริง โดยความร่วมมือของ จังหวัดขอนแก่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลท่าพระ เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลสำราญ มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น บริษัท ขอนแก่น ทรานซิท ซิสเต็ม จำกัด (KKTS) และบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ซึ่งจะดำเนินโครงการ ห้องทดลองระบบรางและต้นแบบตัวรถทำขนาดเท่าของจริง (Railway System Laboratory and Full-Size Prototype Project) ณ บริเวณบึงแก่นนคร

ทั้งนี้ รถแทรมน้อย ไม่ได้นำมาใช้ทำระบบรางเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร แต่มีเป้าหมายเพื่อใช้รองรับการเรียนการสอน “หลักสูตรระบบราง” ของกลุ่มมหาวิทยาลัย เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในระบบขนส่งทางราง ซึ่งถือได้ว่าเป็นห้องทดลองเสมือนจริงเพื่อศึกษาระบบการเดินรถ การบริหารจัดการ และการซ่อมบำรุง โดยทดลองวิ่งรอบบึงแก่นนคร ระยะทางรวม 4 ก.ม. ซึ่งแนวคิดนี้จะยังไม่ดำเนินการจนกว่าจะมีผลการศึกษาให้เรียบร้อยก่อน เมื่อศึกษาเสร็จจึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน โดยในขณะนี้รถแทรมน้อยตั้งโชว์ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนถึงปลายเดือนมีนาคม ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้งครั้ง หากไม่กระทบกับพื้นที่การจัดงานถนนข้าวเหนียว ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ อาจจะมีการขยายเวลาเพื่อให้ประชาชนคนไทย และนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศและทั่วโลกที่เดินทางมาเที่ยวสงกรานต์ถนนข้าวเหนียวได้ชม

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาทดลองระบบรางและต้นแบบรถแทรมขนาดเท่าของจริง นอกจากใช้เพื่อรองรับการเรียนการสอนหลักสูตรระบบรางแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดขอนแก่น ตลอดจนเป็นการและสร้างความคุ้นเคยให้กับชาวขอนแก่นในการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ มุ่งสู่โครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรางเบา LRT สายเหนือ - ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาค จังหวัดขอนแก่น ซึ่งระบบขนส่งมวลชนรางเบา LRT ไม่ใช่เพียงแก้ปัญหาจราจรเท่านั้น แต่คือการรถไฟฟ้ารางเบาในการขับเคลื่อนเมือง การผลักดันให้จังหวัดขอนแก่นสามารถผลิตรถไฟฟ้าได้เอง ซึ่งจะสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ ให้พี่น้องชาวขอนแก่นและชาวอีสานมีงานทำ ให้ลูกหลานชาวขอนแก่นเรียนที่ขอนแก่น ทำงานที่ขอนแก่น มีการสร้างงานที่ขอนแก่น ก่อให้เกิดรายได้ GDP ในจังหวัดขอนแก่น และมีส่วนในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองต่อไป 


วันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 : ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายกเทศมนตรีเทศบาลนครขอนแก่น รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และทีมงาน เข้าพบนายกเทศมนตรีเมืองฮิโรชิม่า และประธานบริษัทHiroshima Dentetsu ณ เมืองฮิโรชิม่า ประเทศญี่ปุ่น เพื่อรับมอบรถแทรม ในโครงการแทรมน้อยรอบบึงแก่นนคร

 

เดือนกุมภาพันธ์ 2562 : เตรียมการขนย้ายรถแทรม จากประเทศญี่ปุ่น 

 

วันที่ 12 มีนาคม 2562 : รถแทรมจากเมือง Hiroshima ประเทศญี่ปุ่น เดินทางถึงท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย และจะใช้เวลาในการตรวจรับประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นจะส่งต่อมายังจังหวัดขอนแก่น

 

วันที่ 16 มีนาคม 2562 : รถแทรมจากเมือง Hiroshima ประเทศญี่ปุ่น เดินทางถึงจังหวัดขอนแก่น โดยได้จัดแสดงบริเวณ ศาลหลักเมืองขอนแก่น ก่อนจะย้ายมาไว้ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตขอนแก่น

 

วันที่ 25 มีนาคม 2562 : เทศบาลนครขอนแก่นและผู้เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ Mr. Tomoaki Goto ประธานบริหาร บริษัท เอ็กเซดดี้ ฟริคชั่น แมททีเรียล จำกัด ผู้ประสานงานให้นำรถรางนี้มาที่ขอนแก่น โดย Mr. Tomoaki Goto ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของแทรม (Tram) รุ่น Hiroden – 907 จากบริษัท Hiroshima Electric Railway พร้อมให้ข้อมูลการพัฒนาการขนส่งระบบราง (แทรม) สู่ความยั่งยืนเหมือนญี่ปุ่น

 

วันที่ 2 เมษายน 2562 : คณะทำงานแทรมน้อย จาก มทร.วิทยาเขตขอนแก่น ร่วมกับคณะทำงาน Hiroshima Tram เดินทางไปที่เมืองฮิโรชิมา เก็บข้อมูลด้านงาน Civil I Rolling-Stock I Electrical ณ Hiroshima Electric Railway ซึ่งเป็นเมืองที่มีจำนวนรถ Tram และผู้ใช้งานมากที่สุดในญี่ปุ่น รวมถึงเข้าเยี่ยมชม Depot และ Field Track Work เพื่อนำไปออกแบบก่อสร้าง ที่จังหวัดขอนแก่น ทาง HER ได้พาเข้าเยี่ยมชม Depot(ศูนย์ซ่อมบำรุง) ตามจุดต่างๆ นอกจากนี้ยังสนับสนุนข้อมูลแบบมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบก่อสร้าง เช่น Track work / Electrification / Depot / Maintenance หลังจากนั้นได้พาเยี่ยมชมสถานีและรางTram ประเภทต่างๆ ที่ใช้งานในปัจจุบันโดยมีการประยุกต์ใช้วัสดุต่างๆ เพื่อลดผลกระทบด้านเสียงและการสั่นสะเทือน เช่น การใช้รางที่ปูผิวบนด้วยหญ้า (Grass track) หรือการใช้เรซิน (Rasin) สำหรับแนวทางคร่าวๆหลังจากนี้ ทาง มทร.ต้องนำข้อมูลและผลจากการรวบรวมข้อมูล นำมาศึกษาที่ขอนแก่น ว่าอุปกรณ์ทางเทคนิคต่างๆ จะดำเนินการอย่างไรต่อ และสามารถสร้างหรือจัดหาได้ภายในประเทศหรือไม่ ในเบื้องต้นจะจัดหาวัสดุที่สามารถหาได้ในประเทศไทยเป็นหลัก และไม่พยายามนำเข้า ทั้งนี้เพื่อต้องการให้เกิดงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Tram โดยเฉพาะ

 

วันที่ 20 เมษายน 2562 : ย้ายรถแทรม มาไว้ภายในบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตขอนแก่น

 

วันที่ 24 เมษายน 2562 : คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ได้จัดงานเปิด ศูนย์วิจัยพัฒนา ทดสอบ และถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูงของประเทศไทย และจัดงานเสวนาในหัวข้อ การถ่ายทอดเทคโนโลยีความเร็วสูงของประเทศไทย และ แนวทางการพัฒนาและเตรียมกำลังพลภาคการศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนส่งทางราง ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0

 

ขอขอบคุณภาพและข้อมูลจาก


Poster : kktt | 13 พฤษภาคม 62 00:00:00


© 2024 Khon Kaen City Development (KKTT) Co., LTD. All rights reserved.

Web Design & Development by Smilehost.asia