"ประชาชาติธุรกิจ" จับเข่าคุยกับ "สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย" โต้โผโปรเจ็กต์ยักษ์ครั้งนี้ในวัย 48 ปี ผู้กุมบังเหียนประธานบริษัท ช.ดอลลาเซียน จำกัด (มหาชน) และยังพ่วงตำแหน่งนักวิชาการ เป็นรองคณบดีฝ่ายบริหาร วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่นอีกด้วย

"สุรเดช" ยิ้มน้อยๆ เมื่อถูกถามว่าเป็นใคร มาจากไหน อะไรดลใจให้คิดโครงการที่สุดแสนจะฮือฮาเช่นนี้ ก่อนจะอธิบายทีละคำถาม หนุ่มนักวิชาการมาดนักธุรกิจคนนี้เล่าว่า หลังจบการศึกษาระดับอนุปริญญา วิศวกรรมยานยนต์ Yomiuri Rikosem College และบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยซันโน ประเทศญี่ปุ่น ได้กลับมารับช่วงกลุ่ม ช.ทวี เป็นรุ่นที่สอง ต่อจาก "ชอ ทวีแสงสกุลไทย" ผู้เป็นบิดาที่เป็นผู้บุกเบิกธุรกิจรถขนส่งในจังหวัดขอนแก่น และเป็นผู้ริเริ่มธุรกิจ เป็นตัวแทนจำหน่ายรถบรรทุกตั้งแต่ปี 2511 ต่อมาได้ขยายธุรกิจไปหลากหลายกิจการ





สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย



ปัจจุบันธุรกิจหลักของ ช.ทวี มี 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มสินค้ามาตรฐาน เช่น รถพ่วง-กึ่งพ่วง รถเทรลเลอร์ขนาดใหญ่สำหรับค้าปลีก 2.กลุ่มสินค้าออกแบบพิเศษ เกี่ยวกับอุปกรณ์ในสนามบิน เช่น รถดับเพลิง รถลำเลียงอาหาร 3.กลุ่มสินค้าบริหารโครงการและงานบริการ โดยเข้าไปร่วมบริหาร เช่น โครงการการต่อเรือหลวงกระบี่งานซ่อมรถ หรือ Preventive Maintenance ทั้ง 3 กลุ่มภายใต้แบรนด์ CTVDOLL เป็นกิจการร่วมค้า (Joint Venture) ระหว่างไทยกับเยอรมนี โดยปัจจุบันบริษัทมีทุนจดทะเบียน 270 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 1,080 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท มีทุนชำระแล้ว 180 ล้านบาท

"ผมพูดเรื่องกองทุนอินฟราฯฟันด์มา 4-5 ปี ทุกคนหัวเราะ แต่ถึงวันนี้ทุกคนบอกว่าใช่ วันนี้ขอนแก่นจะทำวิสัยทัศน์ของจังหวัด โดยเอกชน กลุ่มเอ็นจีโอ พ่อค้า ประชาสังคม เป็นการรวมทุกสเตกโฮลเดอร์ (Stakeholder) โดยเราได้ประชุมกันไปแล้ววันที่ 12-14 ธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุดจดทะเบียนบริษัทแล้ว ชื่อบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (KhonKaen City Development Company Limited : KKTT)"

ทั้งนี้ จะคิกออฟจดทะเบียนบริษัทโฮลดิ้งในวันที่ 1 มกราคม 2558 เป็นการระดมทุนก้อนแรก 200 ล้านบาท คือ ช่วงแรกยังไม่ต้องการให้คนขอนแก่นเสียหาย ถ้าตั้งตัวได้วันนั้นคนขอนแก่นค่อยเข้ามาร่วม หลังจากนี้เราต้องแต่งตั้งที่ปรึกษา FA ที่สำคัญคือการเตรียมชุมชน และเตรียมองค์กรปกครองท้องถิ่น หน่วยงานราชการ

"เราต้องสื่อสารและเอดูเคตว่าพวกเรากำลังจะทำอะไร เราไม่ทำแค่กฎหมาย แต่ต้องทำประชามติด้วย จนปีที่ 3 ก็จะคิกออฟเปิดไอพีโอ เราต้องการให้ของพวกนี้เป็นของคนในจังหวัด ผลกำไรต้องตกแก่คนท้องถิ่น ไม่ใช่คนจังหวัดอื่นเฮโลเข้ามา พอสร้างนั่นสร้างนี่ คนขอนแก่นได้แต่มองตอม่อ"

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าต้องมีคนมองแน่นอนเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน "มีแน่นอน เพราะบริษัทผมเป็นคนผลิต แต่จากโครงสร้างบริษัทจะมีโฮลดิ้งและเคเคทีที จะมาถือกับบริษัทลูก โดยที่ ช.ทวี อาจจะถือหุ้นใหญ่ เพื่อจะได้ไม่เกิด Conflict ว่าผมถือหุ้นใหญ่ ทุกคนก็สบายใจ แต่เป็นหลักประกันว่าคนรู้เรื่อง คนพาทำจะรับผิดชอบตรงนี้ เพราะเงินเยอะที่สุด ผมมองอย่างนี้"

สุรเดชบอกว่า ถ้าไม่สำเร็จ ทุกคนจะจบที่ 200 ล้านบาท แต่นอกจากเกียร์ถอย เราก็มีเกียร์เดินหน้าถึง 5 เกียร์ เพราะรวมตัวกันเหนียวแน่น แต่เราไม่อยากขี้คุย แต่ผมอยากจะทำเป็นตัวอย่างให้ประเทศดู

เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า อันดับแรกเราจะลงทุนรถไฟฟ้าสายสีแดง ตามแผนที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เคยศึกษาไว้แล้ว จากทั้งหมด 5 สาย จากนั้นจะทำ TOD (Transit Oriented Development) พัฒนาพื้นที่รอบเส้นทางรถไฟ บริเวณประตูเมือง ที่ดินเกือบ 1,000 ไร่ทั้งของเอกชนกับรัฐ และพัฒนาสถานี บขส.ใหม่

สำหรับรถไฟสายสีแดง จะเป็นระบบรถรางไฟฟ้า Light Rail ถ่ายทอดเทคโนโลยีจากยุโรป ผลิตโดยคนไทย พวกเราจะทำรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทยโดยคนไทยให้ได้ คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี ถ้าขอนแก่นกับอุดรธานี ลิงก์กันได้ภายใน 20 นาทีด้วยรถไฟฟ้า เราจะมีเครื่องบินขึ้นลงถึง 40 ไฟลต์ จากปัจจุบันขอนแก่นมี 10 ไฟลต์ อุดรฯ 20 ไฟลต์ ขณะที่รถไฟทางคู่ (กรุงเทพฯ-หนองคาย) ก็มา ขอนแก่นจะเกิดเมกะวอลุ่มมหาศาล ต่อจากนี้เราอยากทำเรื่องพลังงานทดแทนต่อไป ถ้าเกิดนิคมอุตสาหกรรมในขอนแก่นมีนิคมสีเขียว มีจุดดึงดูดว่าค่าไฟฟ้าไม่ขึ้น 25 ปี จะเกิดอะไรขึ้น และผมจะมีท่าเรือบก หรือท่าเรือคอนเทนเนอร์ (Inland Container Depot : ICD)

นั่นคือโรดแมปที่วาดหวัง "ขอนแก่น" จะเป็นเมืองพาณิชยกรรมที่ไม่เหมือนใคร

 

ที่มา http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1418877459


Poster : admin | 19 ธันวาคม 58 00:00:00



© 2024 Khon Kaen City Development (KKTT) Co., LTD. All rights reserved.

Web Design & Development by Smilehost.asia