เราคงเห็นการประชุม ครม. สัญจร ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมานับครั้งไม่ถ้วน และพวกเราบางคนก็คงเคยเข้าร่วมการประชุม ครม.สัญจรมาแล้ว ทุกครั้งจะมีการให้แต่ละจังหวัดบอกโครงการที่ตนเองอยากจะทำ และเขียนจำนวนงบประมาณยื่นส่งต่อให้รัฐมนตรีดูแลโครงการต่างๆ ซึ่งทำให้ทุกครั้งหลังจาก ครม. สัญจรทำให้แต่ละจังหวัดหัวใจพองโตเพราะหวังว่าทางรัฐบาลจะนำงบประมาณมามาสนับสนุนให้จังหวัดตนเอง แต่วันนี้มันไม่เป็นความจริง เพราะขอนแก่นผ่านเรื่อง ครม.สัญจร มามากกว่า 3 ครั้ง เราไม่เคยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากครม. สัญจร เลย
ขอนแก่น เป็นเมืองหลักของภูมิภาค เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการเจริญเติบโตสูง หากปล่อยจังหวัดของเราเติบโตโดยไม่มีการวางแผนที่ดีแล้ว คงไม่ต่างจากแหล่งเสื่อมโทรมในอนาคต และจะทำอย่างไรให้จังหวัดของเราสามารถพัฒนาหรือวางแผนเพื่อการเจริญเติบโตที่จะเกิดขึ้นได้
หากพวกเราชาวขอนแก่นไม่ลุกมาทำเอง.. ก็คงไม่มีใครมาทำให้เราแน่นอน
วันนี้อยากได้เมืองที่น่าอยู่และมีความน่าอยู่อย่างยังยืน ประชาคมอาเซียน หรือ AEC ก็กำลังจะเกิดขึ้น และวันนี้โลกาภิวัตน์ก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จังหวัดขอนแก่นจะต้องเป็นศูนย์กลางของเรื่องทั้งสองเหล่านี้ และอีกเรื่องคือประเทศไทยอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าก็จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างถาวร โดยที่ไทยยังไม่มีองค์ความรู้ที่จะสามารถจุนเจือประเทศไปได้ในอนาคต
ปัญหาที่เกิดกับประเทศไทยวันนี้มันยากที่จะแก้ไข แต่สำหรับจังหวัดขอนแก่น หากพวกเราร่วมมือกันหาหนทางที่จะพัฒนาและแก้ปัญหาด้วยตัวพวกเราเองโดยอาศัยหลักวิชาการซึ่งขอนแก่นก็มีแหล่งวิชาการมากมายเป็นผู้สนับสนุนอยู่แล้ว เราน่าจะนำพาจังหวัดของเราให้มีการวางแผนพัฒนาอย่างถูกต้อง
ประเทศไทยวันนี้ ติดกับดักอยู่ 2 ประการ ประการแรกคือ กับดักรายได้ประเทศปานกลาง และอีกอย่างหนึ่งคือกับทางความคิด หมายถึง การที่เราต้องการการพึ่งพาจากผู้อื่นอยู่เสมอ โดยส่วนใหญ่นึกว่ามิใช่หน้าที่ของตนเองในการทำสิ่งสิ่งนั้น และวันนี้หากขอนแก่นสามารถหลุดพ้นกับดักทางความคิดมาได้เราต้องลุกขึ้นมาร่วมกันวางแผนและพัฒนาจังหวัดของเราอย่างถูกต้องตามหลักการ และสิ่งที่เป็นกับดักที่ใหญ่ที่สุด คือ งบประมาณในการพัฒนานั้นควรมาจากไหน สิ่งที่แสดงว่าเราหลุดพ้นจากกับดักทางความคิดได้ก็คือ งบประมาณในการพัฒนาจังหวัดในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้เมืองเจริญเติบโตอย่างถูกต้องและยั่งยืนก็ควรจะมาจากพวกเราชาวขอนแก่นเอง
... ในวันนี้ มีลูกหลานนักธุรกิจชาวขอนแก่นที่พ่อแม่หรือแม้แต่รุ่นปู่บรรพบุรุษปักหลักทำการค้าและเจริญเติบโตขึ้นมาในจังหวัดขอนแก่น
ได้มารวมตัวกันเพื่อตั้งกองทุนพัฒนาเมืองโดยใช้ชื่อ บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที)
จำกัดวัตถุประสงค์ของบริษัท คือ ทำธุรกิจที่ไม่แข่งขันกับคนขอนแก่น
และธุรกิจนั้นจะต้อง เป็นธุรกิจที่สร้างความเจริญอย่างถูกต้อง ให้กับจังหวัดขอนแก่น ...
ซึ่งในวันนี้ทางกลุ่มได้เริ่มวางแผนโครงการอย่างแรก คือ การสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติสำหรับภูมิภาคและจังหวัดขอนแก่น และอย่างที่ 2 คือ การทำรถรางไฟฟ้าขนส่งมวลชน และการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบรอบสถานีโดยจะเริ่มจากแผนที่ทาง สนข. ได้มีการศึกษาไว้เมื่อปี 2551 โดยรถรางไฟฟ้าสายแรกที่จะสร้างก็คือ รถสายสีแดง ซึ่งวิ่งจากช่วงสำราญถึงท่าพระ โดยวิ่งอยู่ในระดับพื้นดินบนเกาะกลางของถนนมิตรภาพ
ซึ่งรถรางสายนี้จะเป็นสายหลักเพื่อทำให้เกิดการกระชับพื้นที่ของเมือง โดยกิจกรรมของจังหวัดจะถูกรวบรวมมาอยู่บริเวณแนวทางรถไฟสายนี้ซึ่งจะทำให้การเดินทางในการทำธุรกรรม มีการประหยัดเวลามากขึ้นและเป็นการแก้ไขรถติด ลดมลพิษ ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของจังหวัดเรา ซึ่งการพัฒนาในลักษณะนี้ตามหลักวิชาการ เราเรียกว่าการทำ TOD (Transit Oriented Development) หรือการพัฒนาพื้นที่โดยใช้ขนส่งมวลชนเป็นตัวนำในแผนแม่บทของ สนข.
สำหรับขอนแก่นนั้น มีการวางเส้นทางรถขนส่งมวลชนไว้ 5 สาย ดังนี้
สายที่ 1 สายสีแดง สำราญ-ท่าพระ
สายที่ 2 คือ บ้านทุ่ม-บึงเนียม
สายที่ 3 คือ สายสีชมพู รอบเมือง
สายที่ 4 คือ สายสีน้ำเงิน หนองโคตร-หนองใหญ่
สายที่ 5 คือ สายสีเขียว น้ำต้อน-ศิลา
โดยในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทั้งหมด ถูกออกแบบให้เป็นระบบ BRT หรือระบบรถบัสที่มีทางเฉพาะเป็นของตนเอง ซึ่งเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2558 ได้มีการประชุมของคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ครั้งที่ 1/2558 วาระที่ 3 และวาระที่ 5 เรื่อง แนวทางดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ในเมืองภูมิภาค โดยในวันนั้นมีมติรับทราบแผนแม่บทขนส่งมวลชน 5 สาย จังหวัดขอนแก่น โดยให้มีการเริ่มสายสีแดงเป็นสายนำร่อง แต่เนื่องด้วยผลการศึกษาได้ทำแล้วเสร็จเมื่อปี 2551 และสถานการณ์ของจังหวัดขอนแก่นได้เปลี่ยนไป ซึ่งรูปแบบการขนส่งมวลชนแบบอื่นเช่นการขนส่งระบบรางมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้จึงมีมติให้ สนข. นำงบประมาณมาให้ขอนแก่นศึกษาการเชื่อมต่อของเมืองและศึกษาขนส่งมวลชนสายสีแดงให้เป็นระบบราง
ถือเป็นความก้าวหน้าเป็นอย่างมากเพราะหากศึกษาเสร็จภายในระยะเวลา 12 เดือนแล้วนำเรื่องผ่าน คจร. อีกครั้ง ขอนแก่น ก็จะสามารถเริ่มก่อสร้างได้ทันที นับเป็นรถรถไฟฟ้าสายแรกที่ผลิตและสร้างด้วยคนไทยและจะเกิดขึ้นที่จังหวัดขอนแก่น
ประโยชน์ที่กองทุนนี้ให้กับคนขอนแก่น อย่างแรกคือ การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โครงการใหญ่ๆที่เกิดขึ้นในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นของนายทุนที่เป็นเจ้าของโครงการ ซึ่งผลประโยชน์กำไรก็จะตกอยู่กับกลุ่มทุนเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น แต่หากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดขอนแก่นเกิดขึ้นจริง ผลประโยชน์กำไรจะตกกลับมาสู่คนขอนแก่น เนื่องจากกองทุนนี้จะระดมทุนจากคนขอนแก่นเพื่อเปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการลงทุน และหลังจากนั้นก็จะนำตัวเองเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประโยชน์ที่ตกกับคนขอนแก่นที่เป็นผู้ถือหุ้นจะมี 2 ด้าน คือ 1. มูลค่าเพิ่มจากราคาหุ้นที่ตนเองถืออยู่ และ 2. เงินปันผลจากโครงการในแต่ละปีที่มีกำไร และเมื่อกองทุนแรกประสบความสำเร็จก็จะเกิดความเชื่อมั่นขึ้นมาในหมู่ประชาชนชาวขอนแก่น และจะทำให้พวกเราชาวขอนแก่นมีโอกาสที่จะใช้ระบบกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้นำไปพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานอย่างอื่นๆ ในรูปแบบการระดมทุนของชาวขอนแก่นเอง สิ่งที่กล่าวมาข้างต้นมิได้หมายความว่าเราไม่จำเป็นจะต้องพึ่งพางบประมาณจากรัฐบาลกลางเลยสิ่งที่พวกเรากทำเป็นกำลังเสริมให้รัฐบาล ทำการพัฒนาประเทศโดยมีจังหวัดต่างๆออกแรงช่วยอีกทางนึง ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นพร้อมกันได้ในหลายหลายพื้นที่
และโครงการนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในจังหวัดของเรา โดยเฉพาะเทศบาลนครขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันก็เป็นแกนนำหลักในการผลักดันโครงการดังกล่าว และอีกส่วนหนึ่งที่จะขาดไม่ได้ คือ การสนับสนุนจากจังหวัดขอนแก่นและองค์การบริหารส่วนจังหวัด
ปัจจุบัน ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นก็ให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวโดยจะเห็นได้จากครั้งที่ท่านรัฐมนตรีมนาคมมาตรวจเยี่ยมจังหวัดขอนแก่น ส่วนทางด้านองค์การบริหารส่วนจังหวัดท่านนายกให้การสนับสนุนถึงกับขนาดพร้อมที่จะให้เงินงบประมาณเพื่อทำการศึกษา
นอกจากนี้ ทางหอการค้า สภาอุตสาหกรรม กลุ่มปัญจมิตรกลุ่ม 8 องค์กรเศรษฐกิจ และกลุ่มองค์กรจีนบางส่วน ก็เริ่มรับรู้ได้ถึงหลักวิธีคิดที่ขอนแก่นจะพึ่งพาตนเอง หลายคนก็ออกมาให้การสนับสนุน
ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องกองทุนโครงสร้างพื้นฐานนี้กับหลายจังหวัด จะสังเกตได้ว่า แต่ละจังหวัดก็จะมีระดับความร่วมมือที่แตกต่างกัน เท่าที่สัมผัสมาจนถึงวันนี้ จังหวัดขอนแก่นของเราเป็นจังหวัดที่มีความร่วมมือสูงมาก และจังหวัดเรายังมีความเสียสละสูงอีกด้วย สิ่งที่โชคดีของเราอีกอย่างคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแหล่งวิชาการที่ให้การศึกษาและวางแผนให้เมืองเราเติบโตอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน พยายามจะทำเรื่องระบบรางเพื่อเตรียมสร้างบุคลากรรองรับสำหรับอุตสาหกรรมนี้
กล่าวโดยสรุป คือ โลกเราวันนี้จะพัฒนาไปยังไม่หยุดยั้ง จังหวัดขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของการพัฒนานั้น สังเกตได้จากการที่ประเทศต่างๆเข้ามาเปิดสถานกงสุลขนาดใหญ่ในจังหวัดของเรา ซึ่งเป็นเรื่องไม่ธรรมดาแน่นอน หากจังหวัดขอนแก่นไม่เตรียมพร้อมที่จะรับการพัฒนาขนาดใหญ่เช่นนั้น เราก็อาจจะเสียโอกาสอันใหญ่หลวง ที่ไม่ค่อยมีโอกาสที่จะผ่านเข้ามาง่ายนัก พวกเราจึงต้องเรียนรู้ศาสตร์หลายอย่าง และต้องเริ่มนำมาใช้ทางพัฒนาในองค์กรของตนเอง เพื่อจะสร้างความเข้มแข็งขององค์กร ซึ่งก็จะนำไปสร้างความเข้มแข็งของจังหวัดเรา โอกาสใหญ่กำลังจะเข้ามาถึงจังหวัดและภูมิภาคของเรา การที่เราอยู่นิ่งเฉยเท่ากับเป็นการเดินถอยหลัง
เพราะฉะนั้น วันนี้ยังไม่สายที่พวกเราจะต้องเริ่มลงทุน และลุกขึ้นเตรียมการที่จะรับโอกาสใหญ่นั้นที่กำลังจะผ่านเข้ามา
และจงตักตวงเพื่อสร้างความมั่งคั่งและความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจของจังหวัดเพื่ออนาคตที่ดีกว่า สำหรับลูกหลานของพวกเราทุกคน
© 2024 Khon Kaen City Development (KKTT) Co., LTD. All rights reserved.
Web Design & Development by Smilehost.asia