นายสุรเดช  ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทช.ทวีดอลล่าเชี่ยน จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง  (KKTT) จำกัด กล่าวในการเสวนา สู่ปีที่ 8 อีสานบิซวีค ภายใต้หัวข้อ เปิดแนวคิด เปิดตัวบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง ตั้งเพื่อเมืองหรือเพื่อใคร ? ว่าทิศทางของโลกาภิวัตน์ (Globalization) หรือ ประชาคมเศรษฐกิจอาเชี่ยน (ASEAN Economic Community) ต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่จะดีหรือไม่ดีไม่มีใครรู้ ที่สำคัญคือ ตลาดทุนต่างๆไหลมาสู่พวกเราแน่นอน เป็นทิศทางตามกระแสโลก หรือ “Global Trend” แต่เรื่องสำคัญที่สุดในอีก 10 ปี ข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างถาวร เรายังไม่มี know how หรือ ไม่มีเทคโนโลยี เป็นของตัวเองที่จะดูแลผู้สูงอายุในอนาคต 

“หากว่าคนไทยยังเย็บรองเท้า ตัดเสื้อโหล หรือ ทำอะไรก็ตามโดยไม่ใช้เทคโนโลยี ขณะที่ญี่ปุ่นสามารถทำได้ เพราะมีโตโยต้ามีเทคโนโลยีสามารถเอากำไรจากที่ไหนก็ได้” นายสุรเดชกล่าว 

 

     นายสุรเดช กล่าวว่า ตนทำงานมา 25 ปี รู้จักนักการเมือง ผู้นำประเทศหลายๆคน ปัญหาประเทศไทย คือ ไม่มาดูแลขอนแก่นของเรา เพราะฉะนั้น ถ้าปัญหาของประเทศไทยใหญ่เกินไป พวกเราลองเอาปัญหาเล็กๆมาแก้ปัญหาเฉพาะขอนแก่นของเรา ซึ่งตรงนี้เป็น วิธีการในการแก้ปัญหา (Solution) ของขอนแก่น และก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ (win win solution)

“ประเทศไทยติดกับดักอยู่ 2 อย่าง อันแรกคือ กับดักของรายได้ประเทศปานกลาง ซึ่งไม่สามารถหลุดจากกับดักตรงนี้ได้ เรามีรายได้ต่อคนต่อปี ประมาณ 5,000 กว่าเหรียญดอลลาร์สหรัฐ มาเป็นเวลา 20 กว่าปีแล้ว ประเทศที่เจริญแล้ว รายได้ต่อคนต่อปี ประมาณ 12,500 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ พวกเราจะทำให้ขอนแก่นให้เป็น 12,500 เหรียญได้หรือไม่ นี่ก็คือปัญหาของประเทศไทยเหมือนกัน”นายสุรเดชกล่าว

กับดักที่สองคือ กับดักทางความคิดไม่ใช่คนไทยอย่างเดียว รวมไปถึงคนกัมพูชา คนลาว หรือประเทศเพื่อนบ้าน มีกับดักทางความคิดคล้ายๆกัน คือ ต้องคอยพึ่งพาจากผู้อื่น เราไม่เคยคิดว่าเราจะลุกขึ้นมาทำอะไรด้วยตนเอง

“เราเพียงแต่บอกว่าอันนี้ไม่ใช่หน้าที่ของเรา อันนี้เป็นเงินของรัฐบาลที่ต้องให้เรา อันนี้เป็นงานของเทศบาลฯที่ต้องทำให้เรา อันนี้เป็นเรื่องของท้องถิ่น ที่ต้องทำให้เราไม่เคยเป็นหน้าที่ของเรา ผมคิดว่าขอนแก่นได้หลุดออกมาจากกับดักดังกล่าวแล้ว”  

 

     นายสุรเดช กล่าวว่า เราจะต้องลุกออกมาทำเองมากกว่า เราบอกว่าแยกสามเหลี่ยมจะเป็นแยกอินโดจีน เช่นเดียวกับพิษณุโลกที่บอกว่าเป็นแยกอินโดจีน ขอนแก่นได้แยกอินโดจีนมาจริงๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับขอนแก่น เราทำอะไรกับแยกอินโดจีนได้ เราก็คงเป็นได้แค่เด็กขายพวงมาลัย เปรียบเทียบกับด้านบน ตนคิดว่าเราอาจจะแย่กว่านั้นถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรกันเอง พัฒนาเมืองกันเอง คนขอนแก่นอาจจะเป็นคนเฝ้าพวงมาลัยข้างล่างโดยมีประเทศอื่นมาขายพวงมาลัยแทนเรา 

 

     นายสุรเดช กล่าวว่า จากอดีตคนขอนแก่นเป็นเหมือนคนตาบอดคลำช้าง นักวิชาการรู้เรื่องแต่ศาสตร์ของตนเอง ตนคิดว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่น สามารถบูรณาการศาสตร์ต่างๆขึ้นมาได้ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่า ปัญหาอยู่ตรงไหนการร่วมพัฒนาเมืองไม่ใช่สิ่งที่พึ่งเกิดขึ้นแต่คิดกันมานานแล้ว พวกเราติดกับดักตัวเดียวคือ รัฐต้องเอาเงินมาให้ เราต้องคิดใหม่มาทำกันเองดีกว่า พวกเรามีกลุ่มมากมาย ถ้าขอนแก่นทำไม่ได้ คงไม่มีจังหวัดไหนทำได้อย่างแน่นอน

     นายสุรเดช กล่าวว่า ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางการศึกษา เป็นฮับโลจิสติกส์ เป็นศูนย์กลางราชการ เป็นศูนย์ไอซีที เป็นไมซ์ ด้วยทำเลที่ตั้งความโดดเด่น วิสัยทัศน์ ทุนมนุษย์ ดวงเมืองแต่ที่สำคัญที่สุดของขอนแก่น คือ ความเสียสละและความร่วมมือของคนขอนแก่น เมืองไหนก็สู้เราไม่ได้ 

“เรามีจุดเด่นอยู่แล้ว เรื่องที่เราคิดมีความเป็นไปได้ วันนี้พัฒนาเมืองขอนแก่นดูจากงบประมาณประเทศ ดูภาษีท้องถิ่น องค์กรปกครองท้องถิ่น กู้เงินมาพัฒนาเมืองขอนแก่น ตอนนี้เรามีตลาดทุนของไทยอยู่ที่เมืองขอนแก่น ตลาดทุนของประเทศไทย เป็นเงินที่เชื่อมจากทั่วโลก เงินไม่ได้อยู่แค่ประเทศไทย แต่มาจากทั้งโลก ถ้าเราทำเมืองขอนแก่นให้มีศักยภาพ ให้มีเสน่ห์พอ ขอนแก่นน่าจะสามารถดึงดูดเงินเข้ามาเพื่อพัฒนาเมืองได้วันนี้มีคนทั้งหมดในนี้ก็คือ 15 คน (ไม่รวมกรรมการอีก 5 คน) ในจังหวัดขอนแก่น เป็นคนรุ่นที่สาม หรือ the third generation ของจังหวัดขอนแก่น ตรงนี้เราใช้คำว่า The khonkaen endnever หมายความว่า คนเหล่านี้ออกเงินมาทั้งหมดประมาณ 200 ล้านบาท และพร้อมที่จะเอาเงินเหล่านี้ตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาเมืองขอนแก่น

 

     นายสุรเดชกล่าวว่า เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นปัญหาที่ไม่ลงตัว งบประมาณไม่มา เพราะฉะนั้นทำอย่างไรให้ขอนแก่นมีงบประมาณ เพื่อมาสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เชิงป้องกันไม่ใช่นำมาแก้ปัญหาแบบที่กรุงเทพฯ ทำวันนี้ หลักการก็คือ เราระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดขอนแก่น นี่ก็คือ ตลาดทุน TOD (Transit Oriented Development) หรือ การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีของระบบขนส่งมวลชน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ตลาดหลักทรัพย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมกับคนขอนแก่น จะสามารถแก้ปัญหาได้ ด้วยรูปแบบของ TIF (Thai Investment Fund) หรือ กองทุนรวมไทย ก็คือ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานจังหวัดขอนแก่น นโยบายกลต.สนับสนุนให้จังหวัดขอนแก่นดำเนินการเต็มที่ กฎหมายให้เอกชนร่วมทุนกับภาครัฐออกมาแล้วเมื่อปี 2556 คนขอนแก่นทั้งภาครัฐและเอกชนขอนแก่นก็มีความตื่นตัว

 

 

     นายสุรเดชกล่าวว่า ขอนแก่นเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน จะต้องมีองค์ประกอบด้วยสิ่งต่างๆเหล่านี้ ลงทุนในสิ่งใดบ้าง อย่างแรก เราต้องการลงทุนในขนส่งมวลชน หอประชุมนานาชาติ การใช้พื้นที่อย่างเหมาะสม และลงทุนอะไรก็ได้ที่เกี่ยวข้องกับดัชนีความสุขของคนขอนแก่น เราไม่ต้องการให้ขอนแก่นโตด้วย GDP ที่โตขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เราอยากให้ขอนแก่นโตด้วย มีความสุขด้วย กองทุนเป็นของคนขอนแก่น เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ช่วยรัฐบาลกลางนำงบประมานมาพัฒนาประเทศ ที่สำคัญคือ สร้าง market cap ลดปัญหาคอร์รัปชั่นซึ่งตรงนี้ถูกควบคุม โดยกลต.ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งก็คือ ช่วยรัฐบาลในด้านเพดานเงินกู้ สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างชัดเจนมีผลกระทบต่อประเทศ 

 

“เรามีโอกาสสร้างเรือหลวงกระบี่ มีคนบอกว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะมาสร้างเรือรบขนาดนี้ในประเทศไทย วันนี้หลังจากที่เราส่งมอบเรือหลวงกระบี่แล้ว เพอร์เซ็ปชั่น (perception) ของคนที่มองเราก็เปลี่ยนไป เรือรบทำไมประเทศไทยไม่สร้างเอง”นายสุรเดชกล่าวและว่า ฉะนั้น รถไฟ และกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเหมือนกัน หลังจากที่เราสร้างเสร็จ อีก 3 – 4 ปีข้างหน้าวันนั้น เพอร์เซ็ปชั่น (perception) หรือ วิธีคิดของคนไทยก็จะเปลี่ยนไปว่า ทำไมการพัฒนาเมือง คนในเมืองไม่ทำเองและทำไมการทำรถไฟ คนในเมือง หรือคนไทยไม่ผลิตเอง

     นายสุรเดชกล่าวว่า แผนการดำเนินการ 3 ปี เราจะเริ่ม IPO (Initial Public Offering) คือ การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (Initial Public Offering) ของกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน อันนี้เป็นโครงสร้างของการบริหารงาน และแผนงานการสร้างศูนย์ประชุมนานาชาติ บริษัท KKTT จะเป็นบริษัท Holding สำหรับลงทุนโดยจะเป็นโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ขนส่งมวลชน รถไฟ หรือแม้แต่การพัฒนาเมือง

“วันที่รัฐมนตรีมาก็ได้ให้การสนับสนุน ในการทำกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขอนแก่น แต่ให้เปลี่ยนจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานประจำจังหวัดเป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานจังหวัดขอนแก่น”นายสุรเดชกล่าว

ตัวอย่างประเทศอื่นมีให้เห็น ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น เป็นการถมทะเลสร้างสนามบิน ที่โคลัมเบีย ซึ่งคนประมาณ 4 – 5 พันคน รวมเงินกันในรูปแบบ PIF (Provincial Infrastructure Fund หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐานจังหวัด สร้างตึกที่สูงที่สุดในโคลัมเบีย

นายสุรเดชกล่าวว่า ประเทศเรามีปัญหาเนื่องจากความไม่ชัดเจน ไม่มี Care ไม่ Fair และไม่ share ถ้าหากเรามีทั้ง 4 ตัวนี้ได้ ในจังหวัดเรา ตนคิดว่าเมืองเราจะเป็นเมืองที่มีความสุขและยั่งยืน สุภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า สังคมจะยิ่งใหญ่ เมื่อชายชราปลูกต้นไม้ที่เขารู้ว่าจะไม่มีวันที่จะได้อาศัยร่มเงาเป็นการทำเพื่ออนาคต เพื่อลูกหลานของเรา

 

สุดท้ายก็มีคำถามที่ว่าทำไมไม่เรียกคนขอนแก่นมาทั้งเมืองแล้วเอาเงินมารวมกัน มีคนหลายคนถามที่ผ่านมาเราได้มีการจัดเวทีเช่นนี้ที่วิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น ดร.อ็อด พงสะหวัน เจ้าของธนาคารพงสะหวัน ประเทศสปป.ลาว พอได้ฟังแล้วบอกว่าทำได้ และต้องการร่วมด้วย KKTT ได้ไปออกตามสื่อต่างๆ ในกรุงเทพฯ กองทุนต่างชาติได้เห็นคอนเซ็ปต์( concept) แล้วก็บอกว่าเป็นไปได้และต้องการจะเข้าร่วมทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท 

นายสุรเดชกล่าวว่า ตนให้โอกาสคนขอนแก่นก่อน ได้ enjoy upside gain (กำไรที่เราจะได้) หรือว่า การมีส่วนร่วมอย่างเรียบร้อย สุดท้ายก็คือ เราไม่ได้ทำเฉพาะเมืองขอนแก่น ในอำเภอเมืองขอนแก่น จากนี้ไปเรามีแผนการมีส่วนร่วมของประชาชน คือ เตรียมชุมชน ทุกอำเภอเราจะเข้าไปเคาะประตูบ้านทุกอำเภอ โดยวิทยาลัยปกครองท้องถิ่นมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เตรียมการอยู่ 

ทั้งนี้เริ่มตั้งแต่เทรน อาจารย์ หัวหน้าส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่น นักศึกษาเข้าไปให้ความรู้กับชาวบ้านทุกชุมชนท้องถิ่น ราว 1.7 ล้านคน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด คือ 80% ของครัวเรือน จะต้องได้รับการอธิบายว่า กองทุนโครงสร้างพื้นฐานขอนแก่น หรือ KKTT คืออะไรดีหรือไม่ เห็นด้วยหรือไม่เพราะอะไร 

“เราต้องการข้อมูลตรงนี้เพราะนี่คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน อาจจะเริ่มจากสายสีแดงที่เราทำก่อน และเริ่มทำในส่วนอื่นต่อไปขอนแก่นจะเป็นอีกภาพหนึ่ง อยากจะบอกไว้ว่า เรารอมา 30 ปี อีกสัก 3 ปีก็คงได้ ส่วนในเรื่องของเงินนั้นไม่มีปัญหา 

หากเรามีเสน่ห์สำหรับนักลงทุนพอ เงินก็เข้ามาหาเราเอง อยากจะฝาก กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน KKTT ซึ่งอยากให้มีข้อสงสัยเยอะๆ จะได้มีโอกาสนำเสนอให้ฟัง หรือ NGO บางท่านอาจจะมีข้อสงสัยว่าเป็นทุนผูกขาดในอนาคตหรือไม่ต้องดูกันอีก หากสามารถดำเนินการต่อไปได้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ ขอนแก่นจะเป็นเมืองที่ต่างจากเมืองอื่นอย่างแน่นอน”

นายสุรเดช กล่าวว่า สุดท้ายการเดินทาง ขอนแก่น–อุดร ใช้เวลา 15 นาที แล้วอีสานจะปรากฏบนแผนที่โลกอย่างชัดเจน คนที่มาเมืองไทย จะมาที่ขอนแก่น ถ้าเราทำขอนแก่น – อุดร 15 นาที ได้เมื่อไหร่ ทุกอย่างจะเปลี่ยน ต้องรอดูอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้าหากเราทำได้ 

“ขอนแก่นจะกลายเป็นเมืองสำคัญทางด้านการท่องเที่ยว การลงทุน และเมืองของเราจะต้องมีความสุข จะวัดจาก GDP (Gross Domestic Product) อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมี GDH (Gross Domestic Happiness) คือ ดัชนีความสุข ขอนแก่นจะต้องโตอย่างมีความสุข และยั่งยืน”

 

ขอขอบคุณภาพและข่าว isaanbizweek


Poster : kktt | 12 มีนาคม 58 00:00:00



© 2024 Khon Kaen City Development (KKTT) Co., LTD. All rights reserved.

Web Design & Development by Smilehost.asia