เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ในวาระที่ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เดินทางเป็นประธานเปิดการสัมมนา“เปิดยุทธศาสตร์ประชารัฐกับการขับเคลื่อนอีสานทศวรรษใหม่” และปาฐกถาพิเศษ“อนาคตประเทศไทย อนาคตเศรษฐกิจอีสาน”ซึ่งจัดโดยมูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า
โอกาสเดียวกันนี้ได้มีการจัดรายการสนทนาพิเศษ LUNCH TALK เป็นการพูดคุยพร้อมรับประทานอาหารกลางวันระหว่างดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กับกลุ่มนักธุรกิจผู้ลงทุนจัดตั้งบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมืองหรือ KKTT ผู้แทนหอการค้าจังหวัด ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด ผู้แทนส่วนราชการ และผู้นำภาคประชาชนจังหวัดขอนแก่นและภูมิภาคอีสานที่ได้รับเชิญเข้าร่วมเป็นกรณีพิเศษจำนวน 43 คน
เวที LUNCH TALK จัดขึ้น ณ ห้องราชพฤกษ์ 5 – 6 โรงแรมเซ็นทารา โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ขอนแก่น วัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำภาคเอกชน ภาครัฐของจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสานได้เข้าพบเพื่อหารือ และขอรับฟังข้อแนะนำจากดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจรัฐบาล
สำหรับการดำเนินโครงการรถไฟฟ้าระบบรางเบาหรือ แทรม (TRAM) ที่ภาคเอกชนจังหวัดขอนแก่นกำลังผลักดันให้เกิดขึ้น และได้รับอนุมัติในหลักการให้ดำเนินการจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช) ไปแล้ว เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2559 แต่ยังคงมีอีกหลายขั้นตอนที่จะต้องดำเนินการ
ท่ามกลางกระแสการพัฒนาของประเทศไทยที่ผ่านมา โครงการพัฒนาล้วนแต่กระจุกตัวอยู่ที่กรุงเทพฯและปริมณฑลในขณะต่างจังหวัดกว่าจะได้งบประมาณต้องใช้เวลานาน และส่วนใหญ่ก็จบลงเพียงแต่แค่งบเพื่อศึกษาเท่านั้น
ผลการศึกษาโครงการหลายต่อหลายโครงการที่ดีๆ ต้องขึ้นหิ้งไม่ได้นำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ได้จริงเพราะรัฐขาดงบประมาณ
ทว่า…ในบริบทของจังหวัดขอนแก่นที่มีการสานพลังประชารัฐกันอย่างเข้มแข็ง จึงต้องการจะสร้างโมเดลการพัฒนาไม่รอรัฐเช่นที่ผ่านมา!!
จุดเริ่มต้นของโครงการนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบด้วยอบจ.ขอนแก่น เทศบาลนครขอนแก่น เทศบาลเมืองศิลา เทศบาลตำบลเมืองเก่า เทศบาลตำบลท่าพระ เทศบาลตำบลสำราญ ได้บูรณาการร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น
บริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง หรือ KKTT ที่เกิดจากบริษัทเอกชนจำนวน 20 แห่งในจังหวัดขอนแก่น รวมตัวกันก่อตั้งเพื่อดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน โดยการสร้างระบบขนส่งมวลชนเป็นรถไฟฟ้าระบบรางเบาเป็นโครงการแรก
สุรเดช ทวีแสงสกุลไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด หัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของ KKTT กล่าวนำเสนอความเป็นมาและประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ต่อวงสนทนาเป็นคนแรกโดยสรุปว่า 1.กองทุนนี้เป็นของคนขอนแก่น ผลประโยชน์ก็จะอยู่ที่คนขอนแก่น เกิดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง 2.ช่วยรัฐบาลกลางในการนำงบประมาณมาพัฒนาประเทศ 3.เพิ่ม Market Capital ให้ตลาดทุนไทย
4.เพิ่มความโปร่งใสในการบริหารโครงการขนาดใหญ่ 5.ส่งเสริมการลงทุนทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน 6.ส่งเสริมให้ขอนแก่นเป็นศูนย์กลางของ AEC 7.ช่วยรัฐบาลกลางในด้านเพดานเงินกู้ ไม่ให้เกินข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ 8.สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ Creative Economy อย่างแท้จริง 9.เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยทั้ง ทางตรง ทางอ้อม
10.ตัวอย่างการทำประชารัฐที่แท้จริง 11.ตัวอย่างการทำขนส่งมวลชนระบบรางที่สามารถทำกำไรและคืนทุนได้ในเวลาอันเหมาะสม 12.สร้างบุคลากรและองค์ความรู้ของระบบราง เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเมืองอย่างยั่งยืน
ก่อนจะจบด้วยสุภาษิตกรีกว่า “สังคมจะยิ่งใหญ่ เมื่อชายชราปลูกต้นไม้ที่รู้ดีว่าพวกเขาจะไม่มีวันได้อาศัยร่มเงา”
หลังจากนั้น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวให้ความเห็นว่า ตนพึ่งทราบวันนี้ว่า ที่ขอนแก่นมีการดำเนินการโครงการสร้างระบบขนส่งรถไฟฟ้ารางเบาเองโดยไม่รอรัฐ พอได้ฟังสิ่งที่ชาวขอนแก่นนำเสนอก็รับรู้ได้ถึงความตั้งใจที่จะพัฒนาเมืองจริงๆ และเป็นโครงการที่ดีแต่จะทำอย่างไรนั้นต้องดำเนินการอย่างรอบคอบ ความตั้งใจนี้จึงจะสำเร็จและไม่เสียโดยเปล่าประโยชน์
“ปัญหาสำคัญของโครงการนี้คือ การขอใช้ที่ดินของรัฐทั้งกรมทางหลวง กรมธนารักษ์ กระทรวงเกษตรฯ ที่ผ่านมาเคยมีคนไปขอใช้รัฐทำไร่ปาล์มน้ำมันเขียนโครงการและเหตุผลมาดีมาก แต่ไม่มีใครกล้าเซ็นต์เพราะค่าเช่าที่ศึกษามาจะคุ้มทุนนั้นราคาต่ำมาก กลัวจะถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ต่อเอกชน”ดร.สมคิดกล่าวและว่า
ท่านต้องไปนำเสนอและสร้างความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรที่จะไปขอแลกเปลี่ยนที่ดินในความคิดเห็นส่วนตัวการแลกที่ดินไม่ง่าย ช่องทางที่จะได้ที่ดินนี้มาที่เห็นเขาทำๆกัน และรัฐบาลกล้าอนุมัติคือ ขอเช่าที่ดินในอัตราที่เหมาะสม ฉะนั้นท่านต้องไปทำตัวเลขคำนวณราคาให้ชัดเจนแล้วไปนำเสนอเพื่อเป็นทางเลือกหากเขาไม่ให้แลกที่ดินดังที่ท่านเสนอไป
กำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันจังหวัดขอนแก่นได้แต่งตั้งคณะทำงานจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาข้อกฎหมายและข้อติดขัดทั้งหมดและตอนนี้ได้งบประมาณราว 36 ล้านบาท เพื่อให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากโครงการตามระบบของกระทรวงคมนาคม ซึ่งอยู่ในระหว่างรอผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่จะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2559
“นอกจากระบบขนส่งแนวเหนือ-ใต้ ที่กำลังดำเนินการแล้ว ผมเห็นว่าพื้นที่ทางด้านตะวันตกของเมืองขอนแก่นนั้นสามารถพัฒนาเศรษฐกิจและรองรับการขยายตัวของเมืองได้อีกจึงต้องเร่งสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ ดังนั้นแนวรถไฟรางเบาควรขยายมาด้านนี้ด้วย ส่วนด้านทิศตะวันออกของเมืองขอนแก่นเป็นเขตพื้นที่ปฏิรูปการเกษตรจำเป็นต้องอนุรักษ์ไว้”นายกำธรกล่าว
รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ คณบดีวิทยาลัยปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า การดำเนินโครงการใหญ่ๆของเมืองเช่นนี้ย่อมมีผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ถึงแม้ในคำสั่งของหัวหน้าคสช.ระบุว่า ต้องมีคนเห็นด้วยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ถึงจะสามารถดำเนินการได้ แต่คณะทำงานก็ไม่ได้ละเลยเสียงสะท้อนของคนอีก 20 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงต้องพยายามสร้างความเข้าใจเพื่อให้เห็นภาพอนาคตของขอนแก่นร่วมกันเพื่อพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
ประเด็นที่เป็นข้อห่วงใยและข้อเสนอแนะของท่านรองนายกรัฐมนตรีที่ว่าระบบราชการเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนา นั้นตรงกันกับประสบการณ์ที่ชาวขอนแก่นเรียนรู้ ในรัฐบาลยุคนี้ได้นำแนวนโยบายประชารัฐมาปรับใช้ ที่มีความหมายว่า ประชานำ รัฐสนับสนุน หากท่านรองนายกฯช่วยขยับและเป็นกำลังหลักให้ชาวขอนแก่นในการเชื่อมกับกระทรวงเกษตรฯหรือกรมธนารักษ์ โครงการนี้ก็จะเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้น
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวอธิบายว่า การทำโครงการใดๆ ต้องนึกถึงความเป็นไปได้ ตนยังอยากให้เกิดขึ้นที่กรุงเทพฯหรือที่ธนบุรี แต่โครงการนี้มาเริ่มต้นที่ขอนแก่นก็นับได้ว่าเป็นเรื่องที่ดี ตนย้ำว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี แต่ไม่ได้เริ่มจากรัฐบาลจึงดูจะเป็นไปได้ยากกว่าโครงการที่เริ่มจากรัฐบาลต้องนำเข้าประชุมครม.และสภาพัฒน์ฯเห็นชอบซึ่งมีอีกหลายขั้นตอน
“ขนาดโครงการที่เริ่มต้นจากรัฐบาลยังเป็นไปได้ยาก กว่าโครงการจะได้รับการอนุมัติเรียกได้ว่า ทำงานกันเกือบตายเลยก็ว่าได้ ส่วนตัวผมคิดว่าโครงการนี้ดีเป็นไปได้ แต่ต้องทำงานให้รอบคอบหากเป็นโครงการที่เริ่มต้นจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต้องทำให้ชัดเจน กระทรวงมหาดไทยต้องรับรู้ กระทรวงเกษตรต้องรับรู้”ดร.สมคิดให้ข้อแนะนำ
ดร.สมคิดกล่าวอีกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องออกมานำเพื่อชี้แจงต่อกระทรวงมหาดไทยว่าโครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาเมืองอย่างไร สนับสนุนเมืองอย่างไร หอการค้าจังหวัดก็ต้องออกมาร่วมสนับสนุนด้วยผ่านช่องทางกรอ.(คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ) ก่อนที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะมาประชุมกรอ.ที่ขอนแก่น
“ท่านต้องเดินเรื่องให้หมดให้เหลือปัญหาน้อยที่สุด แล้วมานำเสนอต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ติดขัดตรงไหน โครงการนี้เป็นไปได้หรือไม่ได้จะให้ท่านนายกรัฐมนตรีเคาะตรงไหนเพื่อให้โครงการนี้เป็นไปได้ และท่านต้องทำให้เร็วเพราะหากไม่อยู่ในยุคของรัฐบาลนี้ท่านอาจจะไม่ได้ทำ!!
ผมคอมเม้นท์อย่างตรงไปตรงมา!! ไม่ต้องมานั่งเกรงใจกัน เพราะผมเห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ผมเห็นความตั้งใจของชาวขอนแก่น และโครงการนี้เป็นความต้องการของประชาคมชาวขอนแก่นจริงๆ ดังนั้นต้องใช้ช่องอย่างหลังด้วยในการนำเสนอต่อรัฐบาลจึงจะมีพลังมากยิ่งขึ้นและเมื่อฟังผมแล้วอย่าหมดกำลังใจนะ”ดร.สมคิดกล่าว
ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวอธิบายเสริมว่า โครงการนี้เทศบาลนครขอนแก่น และองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เริ่มต้นขึ้นจากการศึกษาเพื่อแก้ปัญหาระบบจราจรในเขตเมืองขอนแก่น ซึ่งขณะนั้นได้ข้อสรุปว่าเป็นระบบรถโดยสารทางด่วนพิเศษ หรือ BRT ( Bus Rapid Transit) และมีการออกแบบไว้เรียบร้อย แต่ก็ไม่ได้ทำเพราะเรายังดำเนินการบนรูปแบบเดิมๆคือพึ่งรัฐบาล รอรัฐบาลอนุมัติ กลายเป็นภาระของรัฐบาล
“เราจึงได้นำเรื่องนี้มาหารือกับพี่น้องชาวขอนแก่นทุกภาคส่วนและทุกคนเห็นว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการของใครคนใดคนหนึ่ง แต่โครงการนี้มุ่งแก้ปัญหาของเมืองและชาวขอนแก่นทั้งหมด”นายธีระศักดิ์กล่าว
นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น กล่าวอีกว่า หลังจากนั้นภาคเอกชน 20 บริษัทได้รวมตัวกันก่อตั้งบริษัทที่ไม่ได้มีสาระสำคัญเพื่อประกอบธุรกิจ แต่เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองจึงได้นำผลการศึกษาเรื่อง BRT กลับขึ้นมาทบทวนและศึกษาเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าระบบรางเบา หรือ TRAM
ทั้งนี้โดยได้งบการศึกษาจากสำนักนโยบายและแผนการขนส่งจราจรว่า จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด พร้อมกับศึกษาเรื่องสัดส่วนความเหมาะสมในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน ตลอดจนเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และโครงสร้างการบริหารจัดการร่วมด้วย ดังนั้นเทศบาลนครขอนแก่นจึงได้เชิญชวนอีก 4 เทศบาลมาร่วมกันตั้งบริษัทเพื่อเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการหากจะต้องร่วมมือกับเอกชน
ประเด็นที่ได้นำเรียนผู้ใหญ่หลายท่านล้วนมีประโยชน์ต่อโครงการนี้ทั้งสิ้น และมีผู้ใหญ่บางท่านให้คำแนะนำเราว่าโครงการนี้ถ้าหากท่านรองนายกฯสมคิดไม่ได้รับทราบ โครงการนี้ก็จะเกิดได้ยาก ในวันนี้จึงเป็นที่มาที่ไปของการเข้าพบท่าน
ยกตัวอย่างเช่นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างกระทรวง ซึ่งลำพังสำหรับชาวขอนแก่นจะเดินเข้าไปพบรัฐมนตรีแต่ละท่านนั้นคงเป็นเป็นเรื่องยาก แต่ถ้าหากมีผู้หลักผู้ใหญ่อย่างเช่นท่านรองนายกฯ ช่วยเชื่อมให้จะมีโอกาสเป็นไปได้มากกว่า
ที่ผ่านมาเราเคยนำเสนอโครงการนี้ต่อรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยผ่านวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ แต่ก็ไม่นำเสนอในรายละเอียดเหมือนดังเช่นวันนี้ นอกจากนี้หากมีผู้หลักผู้ใหญ่อย่างท่านรองนายกฯที่เข้าใจเรื่องเศรษฐกิจ เข้าใจเรื่องสำนึกรักท้องถิ่น เข้าใจเรื่องนโยบายประชารัฐ ซึ่งเป็นรูปแบบที่จะเกิดขึ้นได้จริงในบางจังหวัดก็จะช่วยได้มาก
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ กล่าวตอบว่า ที่ผ่านมาการทำงานกับราชการไม่ง่ายทั้งชีวิตของตนอยู่กับระบบนี้ หลักการและเหตุผลที่นำเสนอท่านต้องมุ่งแก้ปัญหาของเมืองเป็นลำดับแรก คือ ปัญหาจราจรของเมือง แล้วค่อยตามด้วยเหตุผลเรื่องการปรับภูมิทัศน์เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของเมืองให้มีความยั่งยืนและเหตุผลอื่นๆ เพราะหากราชการจะอนุมัติต้องเป็นเรื่องการแก้ปัญหามาเป็นลำดับแรกและคนอนุมัติก็จะได้สบายใจ พร้อมกับใช้พลังประชารัฐที่มีอยู่ในพื้นที่หนุนเสริม
“แล้วรัฐบาลทำไมจะไม่เอา!! เพราะไม่ต้องใช้เงินรัฐ แถมยังมีคนมาช่วยแก้ปัญหาของเมืองให้อีกต่างหาก”ดร.สมคิดกล่าวและว่า
ส่วนเรื่องที่ท่านต้องการความช่วยเหลือจากรัฐว่าโครงการนี้จำเป็นต้องใช้ที่ดินของรัฐทั้งกระทรวงเกษตรฯ กรมธนารักษ์ และหน่วยงานอื่นๆโดยมีออฟชั่น ว่าจะเช่าที่ดินหรือนำที่ดินมาแลกนั้นต้องทำตัวเลขให้ชัดเจน การคืนเงินให้ราชการหรือผลประโยชน์ที่จะให้ราชการได้อย่างไรบ้าง
ดร.สมคิดกล่าวด้วยว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วราชการจะทำอะไรได้ ราชการก็ต้องยอม เพราะประชาชนได้ประโยชน์ เอกชนก็ได้ประโยชน์ ทุกคนได้ประโยชน์รวมถึงราชการเองก็ได้ประโยชน์ นี่ตนแนะให้เป็นช่องทางที่จะทำให้ราชการกล้าอนุมัติ อธิบดีกรมธนารักษ์ก็กล้าเซ็นต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรก็กล้าเซ็นต์ เพราะทำเพื่อแก้ปัญหาของเมือง
“ทุกอย่างจะเกิดได้ไม่ใช่ที่ตัวผม มีคนบอกว่าธนาคารจีนมีเงินเป็นแสนล้านพร้อมที่จะลงทุนแต่ต้องผ่านนายสมคิดก่อนนั้นเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีเหตุผลมารองรับ แต่สำหรับโครงการทำระบบขนส่งรางเบาที่ขอนแก่นนั้นมีเหตุและผลที่ดี สามารถยอมรับได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและผมก็จะช่วยในสิ่งที่ผมช่วยได้”ดร.สมคิดกล่าวและว่า
ทั้งนี้ท่านต้องทำให้เป็น? เข้าใจระบบราชการ ตนเอาใจช่วยชาวขอนแก่นอยากให้โครงการนี้สำเร็จ และยังมีอีกหลายโครงการที่ทำร่วมกันได้ตนจึงอยากให้ทำอีกหลายๆโครงการ เอามหาวิทยาลัยเข้ามาช่วย เอาประชาชนเข้ามาช่วย ก็ลองดู!! ไม่มีอะไรเสียหาย!! เวลาตนไปบรรยายที่ไหนตนก็จะยกขอนแก่นเป็นตัวอย่างว่าน่าจะคิดแบบชาวขอนแก่น
การสนทนาพร้อมรับประทานอาหารกลางวัน หรือ LUNCH TALK ระหว่าง KKTT ผู้นำเอกชน ภาครัฐจังหวัดขอนแก่นและภาคอีสาน กับดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี แม้จะจบลงภายในเวลาเพียงประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ก็มีความหมายและสำคัญมาก สำหรับอนาคตของโครงการรถไฟฟ้าระบบรางเบา หรือ“แทรม” (TRAM) ที่ริเริ่มจากภาคเอกชนจังหวัดขอนแก่น
ที่มา : http://www.isaanbizweek.com/
เรื่องโดย กิตติศักดิ์ ชิณแสง
Poster : kktt | 9 พฤษภาคม 59 00:00:00
© 2024 Khon Kaen City Development (KKTT) Co., LTD. All rights reserved.
Web Design & Development by Smilehost.asia