รมว.ดีอี เผย โมเดล บริษัท พัฒนาเมือง ช่วยดัน โครงการสมาร์ท ซิตี้ ยั่งยืน เหตุเอกชนรวมตัวกัน จะทำงานคล่องตัวกว่า ไม่เหมือนระบบราชการ และไม่ต้องหวังรอเงินภาครัฐ แต่ทั้งนี้จะพยายามขอแบ่งงบรวมจากรัฐบาล 1.9 แสนล้านบาท หวังทุกจังหวัดเป็นสมาร์ท ซิตี้
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ซิป้า) เดิม ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี มีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการภูเก็ตสมาร์ทซิตี้ ทำให้พบปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น ซึ่งการพัฒนาสมาร์ทซิตี้แบบยั่งยืน ต้องแก้ไขปัญหาด้านงบประมาณให้มีความต่อเนื่อง การขาดผู้ดำเนินงานในระยะยาว หากต้องการให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องมีส่วนร่วมจากภาคเอกชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนด้วย หากมีรูปแบบธุรกิจที่ดี จึงเชื่อว่าภาคเอกชนจำนวนมากต้องการเข้ามาดำเนินการตรงนี้
ดังนั้นภาครัฐจึงไม่จำเป็นต้องลงทุนเอง แต่ให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ร่วมดำเนินงาน จุดนี้เองเป็นข้อต่อที่สำคัญในการเชื่อมประสานการลงทุนและเป็นที่มาของการก่อตั้งบริษัทพัฒนาเมือง หรือการรวมตัวของนักธุรกิจท้องถิ่น เพื่อจัดตั้งเป็นบริษัทในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ของตนเองไปข้างหน้าและไม่ได้หวังพึ่งพารัฐบาลอย่างเดียว การทำงานก็จะคล่องตัวกว่า โดยมีจุดเริ่มต้นมาจาก นักธุรกิจขอนแก่น ที่ได้รวมตัวกันจดทะเบียนในชื่อว่า บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัด ทั้งนี้ ภายหลังการดำเนินการจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองของขอนแก่น ก็เป็นที่มาให้จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภูเก็ต พัฒนาตาม
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าความต้องการของเมืองนั้นมีไม่สิ้นสุดและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องไม่ใช่การลงทุนเพียง 1 ปีแล้วเลิกไป แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ จะนำงบประมาณจากที่ไหนมาลงทุน ดังนั้นงบประมาณจากภาคเอกชนจึงเป็นคำตอบที่จะทำให้กงล้อทั้งหมดหมุน ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนจำนวนมากต้องการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพะจังหวัดภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น ซึ่งมีความพร้อมหลายด้าน แต่ติดปัญหาด้วยวิธีปฏิบัติ การหาเจ้าภาพจากหน่วยงานภาครัฐที่ชัดเจน
ดังนั้น การมีบริษัทพัฒนาเมืองจะเป็นตัวกลางในการจัดการเรื่องการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศจะทำให้ง่ายขึ้นซึ่งหากโมเดลการพัฒนาเมืองพัฒนามากขึ้นในเฟสสองจะมีการเปิดให้นักธุรกิจเข้ามาเพิ่มทุนและขยับไปถึงการเข้ามาของประชาชนในพื้นที่ ตลอดไปถึงความสำเร็จสูงสุด คือ การระดมทุนจากทั่วประเทศผ่านการนำบริษัทเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การพัฒนาที่เกิดขึ้นยั่งยืนต่อไป
นายพิเชฐ กล่าวว่า ทุกจังหวัดมีโอกาสจะเป็นสมาร์ทซิตี้ได้ ซึ่งตอนนี้รัฐบาลมีงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาของทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศเป็นเงิน 1.9 แสนล้านบาท หากแต่ละจังหวัดดึงจุดเด่นที่มีออกมา เสนอมาเป็นโครงการสมาร์ทซิตี้ เพื่อนำเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาจังหวัด โดยผ่านงบประมาณดังกล่าว จัดเป็นแพกเกจประสานมาเข้าร่วมกับโครงการสมาร์ทซิตี้ก็ยินดี โดยที่ผ่านมา จ.เชียงใหม่ ได้งบประมาณในการทำโครงการสมาร์ทซิตี้ จากภาครัฐหลายหน่วยงานช่วยกัน คือ 36.5 ล้านบาท จ.ภูเก็ต 380 ล้านบาท และ จ.ขอนแก่น 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณที่แตกต่างกันตามโครงการที่เป็นจุดเด่นของแต่ละจังหวัด
ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งคณะกรรมการของสำนักงานดีป้า หลังจากที่ พ.ร.บ.จัดตั้งหน่วยงานได้ประกาศใช้แล้วนั้น ตอนนี้ได้แต่งตั้งให้ นางวิไลลักษณ์ ชุลีวัฒนกุล ปลัดกระทรวงดีอี ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการชั่วคราว รักษาการในช่วง 180 วัน ก่อนจะมีการคัดเลือกบุคคลมารับตำแหน่งต่อไป เพื่อให้การทำงานในโครงการต่างๆ ดำเนินต่อเนื่องไปได้
ข้อมูลจาก SMART GROWTH THAILAND ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ มีการจดทะเบียนบริษัทพัฒนาเมือง จำกัดแล้ว 7 จังหวัดดังนี้
ข้อมูลจาก ผู้จัดการออนไลน์ / SMART GROWTH THAILAND
Poster : kktt | 27 มกราคม 60 00:00:00
© 2025 Khon Kaen City Development (KKTT) Co., LTD. All rights reserved.
Web Design & Development by Smilehost.asia